การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง |
องค์ความรู้ - ถาม-ตอบ (ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง) |
เขียนโดย คณะทำงานด้านพัฒนาศูนย์เรียนรู้ |
การแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในการซื้อหรือจ้างแต่ละครั้ง การแต่งตั้งคณะกรรมการ ตามระเบียบฯ ข้อ 35 หัวหน้าส่วนราชการอาจมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการได้ 3 ประเภท ตามนัยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0204/ว 170 ลงวันที่ 14 กันยายน 2544 เรื่อง การพ้นจากการเป็นกรรมการที่แต่งตั้งโดยระบุชื่อบุคคลและตำแหน่งหรือส่วนราชการ กล่าวคือ การแต่งตั้งกรรมการโดยระบุชื่อตัวบุคคลและแต่งตั้งกรรมการโดยระบุชื่อตัวบุคคลและระบุตำแหน่ง สรุปได้ว่า 1. กรรมการโดยระบุชื่อตำแหน่ง เป็นการแต่งตั้งกรรมการที่ต้องการความรับผิดชอบตามตำแหน่งที่ระบุไว้ ให้แต่งตั้งโดยระบุเพียงชื่อตำแหน่ง ไม่ต้องระบุชื่อตัวบุคคล ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวต้องมีเพียงตำแหน่งเดียว เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ในกรณีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ อาจมอบหมายให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่แทนได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการมอบอำนาจให้รักษาราชการแทน หรือปฏิบัติราชการแทน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ในกรณีที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว บุคคลนั้นย่อมสิ้นสภาพการเป็นกรรมการไปด้วย และบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็จะเป็นกรรมการโดยอัตโนมัติ 2. กรรมการโดยระบุชื่อตัวบุคคล เป็นการแต่งตั้งกรรมการที่ต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญประสบการณ์หรือความเหมาะสม อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะของบุคคล ให้แต่งตั้งโดยระบุชื่อตัวบุคคลไม่ต้องระบุตำแหน่งหรือส่วนราชการต้นสังกัด ซึ่งในกรณีนี้ จะมอบหมายให้ผู้ใดมาทำหน้าที่แทนไม่ได้ กรรมการโดยระบุชื่อตัวบุคคลถึงแม้จะมีคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการในส่วนราชการแห่งใหม่ ก็ยังคงมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่เช่นเดิม โดยจะพ้นสภาพการเป็นกรรมการก็ต่อเมื่อหัวหน้าส่วนราชการมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการเป็นกรรมการ 3. กรรมการโดยระบุชื่อตัวบุคคลและระบุตำแหน่ง เป็นการแต่งตั้งกรรมการที่ต้องการคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลและอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ หรืออำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้แต่งตั้งโดยระบุชื่อตัวบุคคลและระบุตำแหน่งของบุคคลนั้น หรือระบุหน่วยงานที่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งจะแต่งตั้งบุคคลอื่นให้มาประชุมแทนไม่ได้และในกรณีที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ให้เป็นที่เข้าใจว่าต้องพ้นจากความเป็นกรรมการด้วย หรืออาจจะระบุการพ้นจากตำแหน่งไว้ด้วยก็ได้ ถ้าไม่ประสงค์เช่นนั้น ก็ไม่ควรออกคำสั่งในลักษณะนี้มาแต่แรก |